วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552

โซเดียม


Sodium (Na)โซเดียม
เลขอะตอม 11 เป็นธาตุที่ 2 ในหมู่ IA (ไม่รวม H) จัดเป็นโลหะและโลหะอัลคาไล
น้ำหนักอะตอม 22.9898 amu
จุดหลอมเหลว 97.83 c
จุดเดือด 882.9 c
ความหนาแน่น 0.9674 g/cc ที่ 25 c
เลขออกซิเดชันสามัญ +1

การค้นพบ
Sir Humphry Davy เป็นคนแรกที่สกัดธาตุโพแทสเซียมก่อนตามด้วยธาตุโซเดียมใน ปี ค.ศ. 1807 ขณะที่เขาศึกษาปฏิกิริยาการแยกสลายด้วยไฟฟ้าของโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ และโซเดียมไฮดรอกไซด์ตามลำดับ
ในปีถนัดมา (ปี ค.ศ. 1808) Gay-Lussac และ Thernard สามารถเตรียมโลหะโซเดียมได้โดยนำ โซเดียมไฮดรอกไซด์มารีดิวซ์ด้วยเหล็ก ณ อุณหภูมิสูง
ในปี ค.ศ. 1921 บริษัท du Pont ผลิตโซเดียมได้ในราคาถูกมาก โดยใช้ Downs cell สัญลักษณ์ของธาตุนี้มาจากคำลาติน Natrium

การใช้ประโยชน์
โซเดียมใช้ประโยชน์กว้างขวางมาก ที่สำคัญพอสรุปได้ดังนี้
1. ใช้ประโยชน์ในด้านอาศัยสมบัติทางกายภาพของโซเดียม เนื่องจากโลหะนี้เป็นตัวนำความร้อนและไฟฟ้าที่ดีมาก จึงใช้เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนความร้อน (heat exchange medium) เป็นตัวหล่อเย็นในปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เป็นตัวนำไฟฟ้า (โลหะที่นำไฟฟ้าดีกว่าโซเดียมมีไม่กี่โลหะเท่านั้น ได้แก่ เงิน ทองแดง อะลูมินัมและทองคำ) หลอดไฟโซเดียมใช้เป็นตัวให้แสงสว่างบนทางหลวง เป็นต้น
2. ใช้ประโยชน์ในด้านอาศัยสมบัติทางเคมี โดยใช้เตรียมสารเคมีของโซเดียมมากมายก่ายกอง เช่น เตรียมโซเดียมเปอร์ออกไซด์ (Na2O2) ซึ่งใช้เป็นตัวฟอกสี โซเดียมไฮไดรด์ (NaH) เตรียมเตตระเมทิลเลด [(CH3)4Pb], เตตระเอทิลเลด [(C2H5)4Pb] ซึ่งใช้เติมใส่แก๊สโซลีนเพื่อเพิ่มเลขออกเทนของน้ำมันแก๊สโซลีน ใช้เป็นตัวรีดิวซ์และเป็นตัวเร่งในปฏิกิริยาหลายประเภท นอกจากนี้ยังใช้เตรียมสารอินทรีย์ของโซเดียมหลายสาร


ความเป็นพิษ
โซเดียมอิออน (Na+) จำเป็นสำหรับร่างกายจึงไม่เป็นพิษ แต่โซเดียมในรูปธาตุอิสระ เป็นพิษอย่างแรง กัดเนื้อเยื่อทำให้เกิดอาการคันและผี่นแดง ทำปฏิกิริยากับน้ำและออกซิเจนในอากาศอย่างรุนแรง ติดไฟง่าย โลหะโซเดียมจึงต้องเก็บรักษาไว้ในตัวกลางเฉื่อย เช่น ในน้ำมันเคโซซิน การใช้โลหะนี้ต้องใช้ความระมัดระวังสูง

โลหะโซเดียมทำปฏิกิริยาอย่างรวดเร็วกับน้ำให้สารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) และแก๊สไฮโดรเจน สารละลายมีสภาพเป็นด่างจากการละลายของไฮดรอกไซด์ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเป็นปฏิกิริยาคายความร้อน ระหว่างเกิดปฏิกิริยา โลหะโซเดียมจะหมุนวนอยู่ในน้ำและค่อยๆสลายไป ปฏิกิริยาจะร้อนจนบางครั้งติดไฟลุกไหม้ ให้เปลวไฟสีเหลืองส้ม ตามสมการ 2 Na + 2H2O -----> 2 NaOH + H2

โซเดียม เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นทำงานร่วมกับโปตัสเซียม และคลอไรด์ ที่ของเหลวภายนอกเซลล์ เพื่อควบคุมดุลยภาพของแรงออสโมติค และปริมาตรของของเหลว ไตทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของโซเดียมในเลือดโดยมีอัลโดสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนจากต่อมแอดรีนัลเป็นตัวควบคุมอีกตัวหนึ่ง โซเดียมที่มากเกินไปจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ การขาดโซเดียมไม่ค่อยพบ เนื่องจากอาหารส่วนมากจะมีโซเดียม และเกลือแกงที่ใส่ลงไปในอาหารอีกด้วย การมีเหงื่อออกมากเกินไป ท้องร่วง หรือการใช้ยาขับปัสสาวะเป็นเวลานานๆ อาจทำให้โซเดียมในร่างกายลดน้อยลง ทำให้เกิดอาการขาดโซเดียมได้ อาจแสดงอาการดังนี้ คือคลื่นไส้ กล้ามเนื้อไม่มีแรง เหน็บ หรือ ตะคิว ปวดหัว โรคทางจิต อาจเกิดภาวะ ความดันเลือดต่ำ ปริมาณเลือดน้อย ระบบทางเดินหายใจทำงานล้มเหลว
การมีโซเดียมมากเกินไปจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งพบในคนที่สูญเสียน้ำมาก หรือได้รับน้ำในปริมาณที่จำกัด และในคนที่เป็นโรคเกี่ยวกับไตทำงานไม่ปรกติ ( nephrotic syndrome ) จึงทำให้มีการคั่งของโซเดียมความผิดปรกติที่พบแสดงอาการดังนี้คือ ร่างกายอยู่ในสภาวะบวมน้ำ อาจจะแสดงลักษณะรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา ระดับเกลือแร่ในเลือดสูงเกินไปจะทำให้เลือดแข็งตัวได้ ซึ่งนำไปสู่ภาวะต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น เส้นเลือดในสมองตีบตัน ไตวาย หัวใจวาย และยัง สนับสนุนให้ความดันเลือดสูง โซเดียมพบมากในอาหารแทบทุกชนิด โดยเฉพาะโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือและพบมากที่สุดในอาหารทะเล ปลา และเนื้อ สาหร่ายทะเลก็เป็นแหล่งของโซเดียมที่ดี



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น